วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รู้จัก “เฟอร์บี้” สัตว์เลี้ยงไฮเทค


เริ่มต้นสัปดาห์ ด้วยเรื่องราวความฮอตฮิตของเจ้าตุ๊กตาเฟอร์บี้ ด้วยความที่มันเป็นที่นิยมมากๆ ในตอนนี้ เตือนคุณผู้ชมที่สั่งซื้อออนไลน์ให้ระวังเจอแก๊งต้มตุ๋น อย่างที่เป็นข่าวไปแล้ว
ซึ่งคนที่รู้จัก เฟอร์บี้คงจะไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีคนเสาะหา อยากได้มันมาเป็นเจ้าของนัก ขณะเดียวกันเชื่อว่ามีหลายๆ คนที่ยังสงสัย ว่าเจ้า เฟอร์บี้มันคืออะไร วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับเจ้าเฟอร์บี้ให้มากขึ้น
“"เฟอร์บี้" ตุ๊กตานกฮูกพูดได้
ตุ๊กตา "เฟอร์บี้" ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน เป็นของเล่นประเภทสัตว์เลี้ยง มีลักษณะเหมือนนกฮูก ผลิตจากบริษัท Hasbro ในปี 2000 ช่วงนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำยอดขายทั่วโลกไปกว่า 40 ล้านตัว นับเป็นเวอร์ชั่นแรกที่เรียกกระแสได้พอสมควรก่อนจะซาลงไป อันเนื่องมาจากเฟอร์บี้พูดคุยด้วยภาษาเฟอร์บิช ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการสื่อสารระหว่างเจ้าของและเฟอร์บี้
หลังจากนั้น เฟอร์บี้กลับมาอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยี Emoto-Tronics ช่วยให้เฟอร์บี้สนองตอบการกระทำ มีลูกเล่น การโต้ตอบกับเสียงของมนุษย์ที่มากขึ้น  มีการแสดงอารมณ์บนใบหน้าที่ดูสมจริงขึ้น มีระบบเซนเซอร์ 3 จุดที่ช่วยให้อวัยวะอย่างตา, หู, ริมฝีปากสามารถขยับช่วยแสดงอาการเศร้า, ยิ้ม, หัวเราะ, ง่วงนอน อารมณ์เบื่อหรือหวาดกลัวได้ 
ซึ่งความฮิตของเฟอร์บี้นี้ บางครั้งก็นำมาซึ่งคำถามว่าทำไมตุ๊กตานกฮูกดูธรรมดาแบบนี้ ถึงฮิตได้ขนาดนี้ ทั้งที่ยังมีสัตว์เลี้ยงที่เป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ ที่น่ารักกว่าอีก หรือเพราะคนสมัยนี้ "เหงา" มากขึ้น จะให้เลี้ยงสุนัขและแมวก็รู้สึกว่าเป็นภาระเกินไป จึงหันมาเลี้ยง "สัตว์เลี้ยง ไฮเทค" อย่างเฟอร์บี้แทน เรื่องนี้คุณหมอกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชน
เฟอร์บี้ ช่วยให้ผู้ใหญ่กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต บอกว่า การเล่นเฟอร์บี้ทางการแพทย์ระบุว่าเป็นภาวะ "regression" หรือ ภาวะถดถอยทางอารมณ์ที่ย้อนกลับไปเป็นเด็กคิกขุอาโนเนะอีกครั้ง ภาวะนี้เป็นภาวะที่ถดถอยกลับไปเติมความชื่นบานในจิตใจ กลับไปเล่นตุ๊กตา ซึ่งการถดถอยกลับไปเป็นเด็กชั่วขณะจะช่วยทำให้ผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น
คุณหมอยังบอกด้วยว่า ความเหงาอาจเป็นแรงผลักดันในบางคนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีเฟอร์บี้เพราะเหงา ส่วนใหญ่เกิดเพราะกระแสชี้นำทางสังคมมากกว่า ทั้งคุณหมอยังแนะด้วยว่าการตามกระแสไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต้องรู้เท่าทันตัวเอง
ต้องดูเงินในกระเป๋าด้วย ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเฟอร์บี้ อาจหมายถึงของเล่นอื่นๆ ที่น้องๆ หนูบางคนอยากมีเหมือนเพื่อน แต่ฐานะทางบ้านไม่เอื้อหรือพ่อแม่ไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ ผู้ปกครองก็ต้องมีวิธีแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูกๆ
ผลจากการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี
เพราะหากที่ผ่านมา คุณเคยเลี้ยงลูกด้วยการให้พวกเขาเข้าถึงเทคโนโลยี ด้วยการปล่อยให้ลูกเข้าถึงสื่อออนไลน์ตามลำพัง พาไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า สุดท้ายพ่อแม่ก็หนีไม่พ้น ต้องพ่ายแพ้ต่อเสียงเรียกร้องขอของเล่น หรือ แม้แต่เจ้าเฟอร์บี้จากเด็กๆ ตามที่พวกเขาเคยได้ยินได้เห็นจากสื่อต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้โลกของเด็กๆ มีความคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า "บริโภคนิยม"
ซึ่งในหลายๆ ครอบครัวที่รายรับไม่พอต่อรายจ่าย การไม่สอนลูกๆ ให้เข้าใจในเรื่องของวัตถุนิยมเป็นสิ่งอันตรายสำหรับครอบครัว ในบทความ ประหยัดเงินให้ครอบครัวได้ ถ้าลูกห่างไกล "วัตถุนิยม"จึงมีคำแนะนำแก่พ่อแม่ในการช่วยปรับพฤติกรรมของลูกๆ ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของลัทธิทุนนิยมเอาไว้แบบนี้
เริ่มจากการจำกัดช่วงเวลารับสื่อของเด็กๆ ด้วยการลดเวลาการรับชมทีวี ลดการเล่นอินเทอร์เน็ต และดูทีวีพร้อมกับลูก แม้จะเป็นรายการสำหรับเด็กๆ ก็ตาม เพราะในบางกรณีรายการทีวีอาจไม่มีพิษภัย แต่โฆษณาที่มากับรายการดังกล่าวอาจส่งผลโดยตรงต่อจิตใจเด็กๆ ได้ การที่พ่อแม่นั่งดูอยู่กับลูก จึงเป็นการช่วยกลั่นกรองสิ่งต่างๆ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับวัยของลูกนั่นเอง อีกทั้งยังช่วยให้พ่อแม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของลูกได้ดียิ่งขึ้น
ฝึกลูกให้คุ้นเคยกับการปฏิเสธ เพราะไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องได้ "สิ่งของ" ที่พวกเขาต้องการในทันทีที่เรียกร้อง แต่เขาจะได้มันก็ต่อเมื่อถึงโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น ให้รางวัลเด็กด้วย "เวลาและความสนใจ" ไม่ใช่สิ่งของ เมื่อเด็กๆ ทำความดี การกอด หอมแก้ม หรือการให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกๆ เป็นรางวัลที่ดีสำหรับเด็ก และสามารถสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีให้เด็กได้ด้วย ซึ่งในจุดนี้ยังเป็นการลดความสำคัญของ "สิ่งของ" ในเด็กได้เป็นอย่างดี
สุดท้าย จะ เฟอร์บี้หรือของเล่นชนิดไหน มีไว้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการมีความรัก ความเอาใจใส่ ความผูกพันได้ก็จริง แต่มันไม่มีชีวิต ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ครอบครัว สามีภรรยา ลูก พ่อแม่ ซึ่งของจริงไม่ฉาบฉวยและยั่งยืนกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น